
จากงานวิจัยของ Whittaker (1999: 23) พบว่า ปัจจัยของความล้มเหลวหรือความผิดพลาดที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในองค์การ มีสาเหตุหลัก 3 ประการ ได้แก่
- การขาดการวางแผนที่ดีพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนจัดการความเสี่ยงไม่ดีพอ ยิ่งองค์การมีขนาดใหญ่มากขึ้นเท่าใด การจัดการความเสี่ยงย่อมจะมีความสำคัญมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านนี้เพิ่มสูงขึ้น
- การนำเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมมาใช้งาน การนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในองค์การจำเป็นต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับลักษณะของธุรกิจหรืองานที่องค์การดำเนินอยู่ หากเลือกใช้เทคโนโลยีที่ไม่สอดรับกับความต้องการขององค์การแล้วจะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา และเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ
- การขาดการจัดการหรือสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง การที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้งานในองค์กร หากขาดซึ่งความสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงแล้วก็ถือว่าล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้น การได้รับความมั่นใจจากผู้บริหารระดับสูงเป็นก้าวย่างที่สำคัญและจำเป็นที่จะทำให้การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในองค์การประสบความสำเร็จ
สำหรับสาเหตุของความล้มเหลวอื่น ๆ ที่พบจากการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ เช่น ใช้เวลาในการดำเนินการมากเกินไป (Schedule overruns), นำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยหรือยังไม่ผ่านการพิสูจน์มาใช้งาน (New or unproven technology), ประเมินแผนความต้องการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศไม่ถูกต้อง, ผู้จัดจำหน่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ (Vendor) ที่องค์การซื้อมาใช้งานไม่มีประสิทธิภาพและขาดความรับผิดชอบ และระยะเวลาของการพัฒนาหรือนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้จนเสร็จสมบูรณ์ใช้เวลาน้อยกว่าหนึ่งปี
นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ไม่ประสบความสำเร็จในด้านผู้ใช้งานนั้น อาจสรุปได้ดังนี้ คือ
- ความกลัวการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ ผู้คนกลัวที่จะเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งกลัวว่าเทคโนโลยีสารสนเทศจะเข้ามาลดบทบาทและความสำคัญในหน้าที่การงานที่รับผิดชอบของตนให้ลดน้อยลง จนทำให้ต่อต้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
- การไม่ติดตามข่าวสารความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก หากไม่มั่นติดตามอย่างสม่ำเสมอแล้วจะทำให้กลายเป็นคนล้าหลังและตกขอบ จนเกิดสภาวะชะงักงันในการเรียนรู้และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
- โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศกระจายไม่ทั่วถึง ทำให้ขาดความเสมอภาคในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือเกิดการใช้กระจุกตัวเพียงบางพื้นที่ ทำให้เป็นอุปสรรคในการใช้งานด้านต่าง ๆ ตามมา เช่น ระบบโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ฯลฯ
ประเด็นปัญหาและอุปสรรคต่อมาตรฐานการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
ประเด็นแรก เกี่ยวกับ Hardware สถานศึกษาหลายแห่งโดยเฉพาะที่อยู่ชนบทห่างไกล หรือเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีจำนวนเครื่องไม่เพียงพอ ขาดงบประมาณสนับสนุน เครื่องที่ได้จากการบริจาคบางที่เป็นเครื่องที่ล้าสมัย ความเร็วต่ำ จำนวนเครื่องต่อคนใช้ในอัตราสูง ( สถานศึกษาร้อยละ 55 ใช้คอมพิวเตอร์ 1 เครื่องต่อนักเรียน 20 คน ร้อยละ 25 ใช้คอมพิวเตอร์ 1 เครื่องต่อนักเรียน 21-40 คน ส่วนที่เหลือมีสัดส่วนนักเรียนมากกว่า 40 คนต่อ 1 เครื่อง : ข่าวสด หน้า 28 - วันที่ 05 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 17 ฉบับที่ 6306 )
ประเด็นที่สอง เกี่ยวกับ Software เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีด้านโปรแกรม เป็นไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นในการพัฒนาโปรแกรมใช้งานของโรงเรียนให้ทันสมัยอยู่เสมอก็เป็นเรื่องลำบาก ติดปัญหาตรงที่สภาพเครื่องไม่รองรับโปรแกรมบ้าง ขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจบ้าง
ประเด็นที่สาม คือด้านการบริหารจัดการ โรงเรียนให้ความสำคัญกับการมีเครื่องคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายเพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆในโรงเรียน (เพราะมีผลต่อการประเมินภายนอกของ สมศ. ในมาตรฐานที่ 5 และ 10 ด้วย) แต่ยังประสบปัญหาด้านงบประมาณในการจัดหา ดูแลรักษา ระบบการวางแผนใช้งาน และการติดตามประเมิน
ประเด็นที่สี่ คือด้านบุคลากรซึ่งถือว่าเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญ เพราะเหล่านโยบาย มาตรฐานต่างๆ ที่เขียนขึ้นมาต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากบุคลากร โดยเฉพาะครู ปัญหาการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวกับบุคลากรซึ่งมักจะได้ยินได้ฟัง หรือพบเห็นตามสื่อสิ่งพิมพ์ บนกระทู้ต่าง ๆ จากอินเตอร์เน็ต เช่น โรงเรียนขาดครูที่จบทางด้านนี้โดยตรง ครูไม่มีความรู้ด้านการใช้งาน ICT ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะจัดงบประมาณส่งเสริมด้านนี้ในแต่ละปีมากพอสมควร แต่พฤติกรรมหลังการอบรมแล้วครูไม่ได้ใช้ความรู้จากการอบรม หรือใช้ก็ส่วนน้อย อาจจะติดขัดที่เรื่องประเด็นเวลา หรือภาระงานที่มากเกินไป หรือบางครั้งเมื่อนำไปใช้แล้วประสบปัญหาเกิดความท้อถอย ปัญหาด้านทัศนคติของครูต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ อาจจะเห็นว่าการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นเรื่องยุ่งยาก ซึ่งอาจจะมาจากเรื่องของภาษาในโปรแกรม โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ การใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในโปรแกรมซับซ้อนเข้าใจยาก ปัญหาด้านพฤติกรรมการใช้งาน ที่พบบ่อย ๆ คือ การใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องพิมพ์ดีดราคาแพง นักเรียนใช้เครื่องเพื่อการบันเทิงเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมส์ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มีมากกว่าการใช้เพื่อการเสาะแสวงหาความรู้จากเทคโนโลยีสารสนเทศ
ปัญหาเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จของการดำเนินงานตามนโยบายและมาตรฐานการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา ที่ทุกคนทุกฝ่ายต้องการเห็นการนำมาใช้อย่างจริงจังเพื่อการพัฒนาการศึกษาของชาติก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่ คำตอบที่สำคัญจึงอยู่ที่ตัวครู ทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการ เพราะครูคือพลังขับเคลื่อนการศึกษาที่สำคัญ หากครูไม่ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับการเรียนการสอน อย่างจริงจัง ครูยังใช้วิธีการสอนแบบเดิม ๆ และไม่พัฒนาศักยภาพด้านการนำเทคโนโลยีมาใช้แล้ว แนวนโยบายและมาตรฐานการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษาที่กำหนดขึ้นมาก็คงเป็นแค่ความหวังที่อยากให้มี มากกว่าที่จะเป็นรูปธรรมจริง
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษาของหน่วยงานทางการศึกษาและที่เกี่ยวข้อง มีลักษณะเป็นไปอย่างอิสระทำให้ขาดความเป็นเอกภาพ ประกอบกับขาดความพร้อมทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร และอุปกรณ์ต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ต่อเชื่อมระบบซอฟแวร์ เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ อันได้แก่ ปัญหาการผลิตข้อมูลปฐมภูมิที่มีข้อมูลไม่ครบถ้วนตามที่ผู้ต้องการใช้ ปัญหาการจัดเก็บข้อมูลทุติยภูมิ ปัญหาการประสานงานเครือข่าย รวมทั้งปัญหาการดำเนินงานสารสนเทศ ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ส่งผลไปถึงการจัดการศึกษาที่ต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินงาน
จากปัญหาข้างต้น จึงจำเป็นจะต้องพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษา โดยมีพื้นฐานอยู่บนหลักการพัฒนาร่วมกันระหว่างหน่วยงานทางการศึกษาและที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถประสานการดำเนินงาน และการนำทรัพยากรมาใช้ในการบริหารการวางแผนการจัดการศึกษา และการฝึกอบรมร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแบ่งได้เป็น
1. ด้านการกระจายโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการศึกษา มีสถานศึกษาจานวนหนึ่งที่โทรศัพท์ยังเข้าไม่ถึง และคอมพิวเตอร์ยังไม่มีหรือมีแต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และที่มีอยู่ก็ขาดการบำรุงรักษา รวมทั้งไม่อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการศึกษาโดยเฉพาะคู่สายโทรศัพท์ยังมีบริการไม่ทั่วถึง อาจจะเป็นไปได้ว่าสถานศึกษาเหล่านี้อยู่ในท้องถิ่นที่ห่างไกล ดังนั้นสถานศึกษาต้องรีบดำเนินการเพราะเป็นพื้นฐานที่จะไปสู่ระบบอินเทอร์เน็ต
2. ด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ ครูใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อพัฒนาทักษะวิชาชีพครูน้อยมาก และคอมพิวเตอร์มีจำนวนไม่พอกับความต้องการที่ครูจะใช้
แสดงให้เห็นว่าครูยังต้องได้รับการพัฒนาด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ อีกเป็นจำนวนมาก และสถานศึกษาก็ต้องจัดหาคอมพิวเตอร์ให้เพียงพอต่อความต้องการของครู
3. ด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการและให้บริการทางการศึกษา สถานศึกษายังขาดรูปแบบระบบสารสนเทศ ผู้บริหารให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในระดับเบื้องต้น แสดงให้เห็นว่าสถานศึกษายังไม่มีระบบข้อมูลสารสนเทศที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ผู้บริหารต้องได้รับการพัฒนาด้านการใช้เทคโนโลยีสารเสนเทศและการสื่อสารเพื่อให้เกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จะนำมาพัฒนาการบริหารจัดการและการบริการทางการศึกษา
4. ด้านการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาตนเองของครูด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศยังขาดความต่อเนื่อง บางคนใน 3 ปีที่ผ่านมายังไม่เคยไปเข้ารับการฝึกอบรมด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเลย แสดงให้เห็นว่า ครูได้รับการพัฒนาด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารยังไม่ทั่วถึงเพราะมีครูอีกจำนวนหนึ่งที่ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมายังไม่เคยได้รับการอบรมด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเลย
สรุป
ในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษาอาจเกิดผลกระทบด้านต่าง ๆ ตามมา ทั้งผลกระทบต่อผู้ใช้นวัตกรรมคือผู้สอน หรือผู้บริหาร และผลกระทบต่อผู้เรียน เช่น ปัญหาการปรับพฤติกรรมการสอนของครูผู้สอน ปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยี ปัญหาด้านงบประมาณในการจัดหาเทคโนโลยี เป็นต้น นอกจากผลกระทบต่อการศึกษาโดยตรงแล้วยังมีผลกระทบต่อด้านอื่น เช่น ปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาต่อเศรษฐกิจ เป็นต้น ดังนั้นผู้ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษาควรเข้าใจถึงข้อดีและข้อเสียของสิ่งเหล่านี้ เพื่อเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพต่อการศึกษามากที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น